อาหารแมวและการให้อาหารแมว
อาหารแมว
อาหารการกินเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่ขาดไม่ได้ แมวจะมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงดำรงชีพได้อย่างมีความสุขหรือไม่นั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นผลมาจากอาหาร แมวก็เหมือนคนคือต้องการอาหารที่มีคุณค่าหรือมีองค์ประกอบครบถ้วนทุกหมวดหมู่ ซึ่งได้แก่โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามินและแร่ธาตุ ดังนั้นในการให้อาหารหากขาดอาหารประเภทหนึ่งประเภทใดไปแมวก็จะเติบโตไม่สมบูรณ์
การให้อาหารแมวอย่างถูกวิธี คือการให้อาหารที่มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการ และสารอาหารเหล่านี้ต้องอยู่ในอัตราส่วนปริมาณที่พอเหมาะไม่มากหรือน้อยเกินไป ดังนั้นการเลี้ยงแมวด้วยเศษอาหาร ที่เหลือจากการรับประทานหรือการเลี้ยงด้วยเนื้อล้วน ๆ หรือปลาอย่างเดียว ทั้ง ๆ ที่ซื้อมาราคาแพงไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง เพราะแมวจะไม่ได้รับคุณค่าทางอาหารที่ครบถ้วน แมวอาจเป็นโรคกระดูกอ่อน ขนร่วง ฟันงอกซ้านละหลุดร่วงเร็วกว่าปกติ ร่างกายเจริญเติบโตไม่ได้สัดส่วนกลายเป็นแมวอ้วน อุ้ยอ้าย ไม่กระชับกระเฉงและเจ็บป่วยได้ง่าย ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความรู้เบื้องต้นเรื่องโภชนาการสำหรับแมวมีความจำเป็นต่อผู้เลี้ยงแมวมาก อาหารหลักของ แมวประกอบด้วย

โปรตีน มีอยู่ในเนื้อสัตว์ เนื้อปลาและถั่วต่างๆ แมวนำประโยชน์ของโปรตีนแต่ละชนิดไปใช้ได้มากน้อยต่างกัน โปรตีนมีความสำคัญต่อแมวเกี่ยวกับการเจริญเติบโต การสร้างแอนติบอดีสำหรับป้องกันเชื้อโรค ซ่อมแซมเนื้อเยื่อต่างๆ ทำให้ขนงอกตลอดจนสร้างเอนไซน์ต่าง ๆ เป็นต้น ลูกแมวที่กำลังเติบโตต้องการโปรตีนไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนแมวที่โดเต็มที่แล้วต้องการโปรตีนไม่ต่ำกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ถ้าแมวได้รับอาหารที่มีโปรตีน ต่ำกว่า 18 เปอร์เซ็นต์จะเบื่ออาหารง่าย
คาร์โบไฮเดรต แมวต้องการคาร์โบไฮเดรตซึ่งมีอยู่ในน้ำตาล แป้งและข้าวต่าง ๆ เพื่อเป็นกำลังงานในการเจริญเติบโตการผลิตน้ำนมและการทำงานความต้องการพลังงานของแมวขึ้นอยู่กับกิจกรรมของแมว เช่น แมวที่เคลื่อนไหวทำงาน วิ่งเล่น ย่อมต้องการพลังงานมากกว่าแมวที่นอนอยู่เฉยๆ
ไขมัน แมวต้องการไขมันสำหรับกำลังงานหรือแคลอรี่ประมาณ 8เปอร์เซ็นต์ ไขมันให้กำลังงานมากกว่าคาร์โบไฮเดรต 2 เท่า และไขมันยังมีกรดไขมันซึ่งมีความสำคัญต่อโภชนาการและการเจริญตามปกติของแมว แมวขาดกรดไขมันจะทำให้ผิวหนังแห้งและเจริญเติบโตช้า ถ้ามีไม่เพียงพอจะก่อให้เกิดอาการของโรคขึ้น นอกจากนี้ไขมันยังให้พลังงานเพื่อการเจริญเติบโตตลอดจนการต่อสู้ต่อความเครียด ความหนาว และถ้าขาดมากเกินไปอาจจะทำให้ตายได้
วิตามิน วิตามิน หมายถึง สารจำนวนน้อยที่สำคัญต่อชีวิต ดังนั้นการให้วิตามินมากเกินไปจึงไม่จำเป็นและมีโทษด้วย วิตามินมีอยู่หลายชนิด ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโตและช่วยควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ อาหารแต่ละอย่างจะให้วิตามินแต่ละชนิดมากน้อยต่างกัน เช่น
วิตามินเอ ช่วยในการต้านทานโรค มีในเนื้อสัตว์ ตับ ไข่แดง น้ำมัน ตับปลา วิตามินบี ควบคุมความสมบูรณ์ให้กับผิวหนัง ช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกาย ป้องกันโรคทางประสาท มีในไข่แดง นม ตับ วิตามินซีช่วยบำรุงรักษาผิวหนังและขน แก้โรคลักปิดลักเปิด มีในพืชผักผลไม้ วิตามินดีช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของร่างกายและกระดูก มีในน้ำมันตับปลา วิตามินดีที่มีมากและเพียงพอจะช่วยทำให้ธาตุแคลเซียมหรือฟอสฟอรัสที่ไม่ได้อัตราส่วนนั้นถูกนำไปใช้เป็นประโยชน์ได้มากขึ้น วิตามินอีมีความจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโต การสืบพันธุ์และการผลิตน้ำนม ดังนั้นจึงควรให้วิตามินเหล่านี้แก่แมว โดยเฉพาะลูกแมว
แร่ธาตุ มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ช่วยในการสร้างกระดูก ฟัน และเลือด ช่วยควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ อาหารแต่ละอย่างก็ให้แร่ธาตุแต่ละชนิดมากน้อยต่างกัน แร่ธาตุที่สำคัญ คือ แคลเซียมและฟอสฟอรัสนเป็นแร่ธาตุที่ช่วยเสริมให้กระดูกแข็งแรง ถ้าขาดไปจะทำให้แมวเป็นโรคกระดูก อ่อนโค้งงอหักง่าย
การให้อาหารแมว
อาหารลูกแมว
ควรให้ลูกแมวอยู่กินนมแม่ไปตลอดจนกว่าจะหย่านมไปเอง ไม่ควรให้ลูกแมวหย่านมเมื่ออายุต่ำกว่า 45 วัน เพราะจะทำให้สุขภาพของแมวไม่สมบูรณ์ในภายหลังได้ อย่างไรก็ตามหลังจากหย่านมแล้วน้ำนมยังเป็นอาหารที่สำคัญและจำเป็นต่อลูกแมวอยู่จนกว่าอายุจะเลยเก้าเดือน
ไปแล้ว อาหารอย่างอื่นจึงจะสำคัญและจำเป็นกว่า แต่ควรให้แมวกินนมวันละครั้งหรือเป็นครั้งคราว และต้องคอยสังเกตว่าแมวมีอาการท้องร่วงท้องเสียจากการกินนมหรือไม่ถ้ามีควรงด ลูกแมวอายุประมาณ 3 เดือนควรตั้งต้นให้กินอาหารเนื้อได้แล้ว แต่ควรเป็นเนื้อที่สับละเอียดและให้เพียงเล็กน้อย ลูกแมวอายุ 5 ถึง 7 อาทิตย์และแม่แมวให้นมลูกควรจัดให้กินวันละ 4 มื้อ พออายุ 7 ถึง 12 อาทิตย์ลดลงเหลือ3มื้อ
ถ้าลูกแมวกำพร้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ยังไม่หย่านม ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด หากไม่สามารถนำไปให้กินนมแม่แมวตัวอื่นได้ก็ต้องชงนมให้กินแทนนมแม่ ซึ่งควรระวังเกี่ยวกับความสะอาดและคุณภาพของนมเป็นสิ่งสำคัญเพราะอาจทำให้ลูกแมวเกิดติดเชื้อจากนมที่สกปรกนมบูด ทำให้ท้องร่วงถึงตายได้ นมที่ใช้เลี้ยงลูกแมวกำพร้าอาจใช้นมผงเลี้ยงทารก นมวัวสด หรือนมสดยูเอช.ที ผสมน้ำและวิตามิน นำมาอุ่นอุณหภูมิประมาณ 98-100องศาฟาเรนไฮท์ หรือ อังพออุ่นมือจับได้กรอกใส่ขวดยางป้อนลูกแมว

แมวที่โตแล้ว
ลูกแมวที่กำลังโตหรือหย่านมแล้วผู้เลี้ยงสามารถจัดอาหารให้กินน้อยลงได้ คือให้วันละ 3 มื้อเท่า ๆ กับคนและเมื่อโตเต็มที่เป็นแมวหนุ่มที่อาจลดจำนวนอาหารเหลือเพียง 2 มื้อ คือเช้าและเย็นก็พอ ที่สำคัญคือควรฝึกให้แมวกินอาหารเป็นเวลา ไม่ควรทิ้งอาหารไว้ในจานให้แมวกินตลอดทั้งวัน เพราะเป็นการเสียนิสัย อาหารอาจมีแมลงวันตอมนำเชื้อโรคมาให้หรืออาหารบูดเสีย ทำให้แมวท้องร่วงได้
แมวท้อง
อาหารที่ใช้เลี้ยงแมวกำลังตั้งท้องนั้นจะต้องมีคุณภาพสูง โปรตีนมากไขมันน้อย ขนาดและปริมาณที่ใช้ใน 5 ถึง 6 อาทิตย์แรกของการตั้งท้องพอๆ กับใช้เลี้ยงดูแมวโตเต็มวัยประจำวัน แต่จะเพิ่มปริมาณอาหารให้มากขึ้นตาม น้ำหนักตัวแมวในระยะ 3 อาทิตย์สุดท้ายก่อนคลอด คือเพิ่มอาหารให้ปริมาณ 10 ถึง 20 เปอร์เซ็นต์
ก่อนคลอด 1 ถึง 2 วัน แม่แมวบางตัวมักไม่ค่อยกินอาหารหรือไม่กินเลยเพราะมัวตั้งหน้าตั้งตาหาสถานที่หรือกังวลอยู่กับลังคลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่แมวสาวท้องแรกแต่ถือเป็นเรื่องปกติ หลังคลอดลูกแล้วก็จะกินอาหารเอง ข้อพึงระวังคืออย่าขุนจนแมวอ้วนเกินไปทำให้คลอดลำบาก หรือ คุมอาหารเสียจนผอมไปไม่มีแรงเบ่งในการคลอด
หลังจากคลอดแล้ว แม่แมวก็กลายเป็นแมวแม่ลูกอ่อน ซึ่งอาหารที่ใช้เลี้ยงแมวในช่วงนี้ไม่ได้ให้เฉพาะแต่แม่เท่านั้น มันต้องถ่ายทอดไปยังลูกแมว ด้วยโดยการเปลี่ยนเป็นน้ำนม ฉะนั้นปริมาณอาหารที่แม่แมวกินจะต้องมีปริมาณเพียงพอเหมือนช่วงตั้งท้อง

แมวแก่
แมวแก่แมวสูงอายุ ร่างกายย่อมต้องการพลังงานน้อยลงจึงไม่ต้องการอาหารมากนัก เพราะถ้ากินมากก็จะทำให้มีน้ำหนักตัวมากหรืออ้วนเกินไป ซึ่งควรให้อาหารน้อยลง โดยหลักการแล้วอาหารสำหรับแมวแก่ต้องย่อยง่าย เช่น เนื้อที่ไม่มีผังผืด อาหารที่ไม่มีไขมันหรือน้ำตาลที่จะทำให้อ้วนพวกแป้ง วิตามิน รวมทั้งแร่ธาตุต่าง ๆ เพื่อบำรุง ร่างกายปริมาณที่ให้ก็ไม่ควรมากเกินไป เพราะแมววัยนี้แล้วไม่กระฉับกระเฉง การวิ่งเล่นออกกำลังกายย่อมน้อยลงตามอายุ กินกินนอนนอนไม่ได้ใช้พลังงานมากนัก ระบบย่อยอาหารและขับถ่ายเริ่มย่อนประสิทธิภาพ ฉะนั้นอาหารที่กินเข้าไปมาก ๆ นอกจากจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แล้วยังทำให้เกิดโทษ เช่น แน่นท้องและท้องอึดได้
น้องแมวในรูปอายุ16ปี
ที่มาจากหนังสือความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงดูแมว คุณบัณฑิตย์ สุริยพันธ์