แมวไทย
แมวไทยเป็นแมวที่มีความน่ารักและสง่างาม แมวไทยพันธุ์แรกที่ชาวต่างชาติได้รู้จักและได้ตั้งชื่อว่าไซแอมมีสแคท (SIAMESE CAT) คือ แมวโบราณที่มีชื่อว่า วิเชียรมาศ ซึ่งตามประวัติศาสตร์หลังสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนปลาย การเลี้ยงแมวไทยเริ่มลดน้อยลง สายพันธุ์ของแมวไทยจากเดิมที่มีถึง 23 สายพันธุ์ได้มีการสูญหายไปเกือบหมด ในปัจจุบันยังคงเหลืออยู่ 5 สายพันธุ์ ในสมัยรัชกาลที่ 5 แมวได้ถูกเลี้ยงดูเฉพาะในวัง ประชาชนไม่มีสิทธิ์เลี้ยงแมวไทยได้โดยเฉพาะแมวพันธุ์ขาวมณีซึ่งเป็นแมวที่รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเป็นพิเศษและแมวไทยพันธุ์วิเชียรมาศก็เลี้ยงอยู่แต่ในวังเช่นกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงได้ให้แมววิเชียรมาศเป็นของที่ระลึก 1 คู่แก่กงสุลชาวอังกฤษที่มีชื่อว่านายโอเวน กูลด์ (OWEN GOULD)ในปี พ.ศ. 2428 ต่อมานายโอเวน กูลด์ ได้นำแมวคู่นี้ไปฝากน้องสาวที่ประเทศอังกฤษและแมวคู่นี้ก็ได้ถูกส่งเข้าประกวดในงานการประกวดแมวที่ The Crystal Palace กรุงลอนดอน และได้รับรางวัลที่ 1 ทำให้ชาวอังกฤษพากันสนใจและหันมาเลี้ยงแมวไทยกันมากจนตั้งเป็นสโมสรแมวไทยขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าแมวไทยนั้นเป็นสัญลักษณ์และนำชื่อเสียงให้ประเทศทำให้ประเทศอื่นได้รู้จักประเทศไทยดีขึ้น จึงได้พระราชทานแมวไทยให้ประเทศอื่นๆ อีก เช่นอเมริกา เป็นต้น จนทำให้แมวไทยและประเทศไทย มีชื่อเสียงไปทั่วโลกในสมัยนั้น
ต่อมาหลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอม-เกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จสวรรคต แมวไทย ที่มีการเลี้ยงอยู่ในวังและที่เหลืออยู่ได้ถูกลืม และถูกมองข้ามความสำคัญไปไม่เหมือนแต่ก่อน จึงเป็นสาเหตุทำให้แมวไทยเดิมที่เคยอาศัยอยู่แต่ในวัง ได้กระจัดกระจายมีอยู่ทั่วไปตามวัดตามสถานที่ต่างๆและไม่มีใครเป็นเจ้าของแมว ทำให้แมวอยู่กันแบบตามมีตามเกิดจึงทำให้เกิดการผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์ลูกที่ออกมาส่วนใหญ่จะเป็นแมวลูกผสมซึ่งไม่มีคุณค่า จุดนี้เองที่ทำให้แมวไทยพันธุ์แท้หายสาบสูญไปจากเมืองไทย ในแต่ปัจจุบันนี้มีอยู่เพียง 5 สายพันธุ์
1.แมววิเชียรมาศ
สมัยโบราณมีความเชื่อกันว่า แมววิเชียรมาศ เป็นแมวที่เลี้ยงกันเฉพาะในวังหรือตามบ้านเจ้าขุนมูลนายเท่านั้น และคนในสมัยโบราณยังเชื่อกันอีกว่าถ้าใครสามารถเลี้ยงแมววิเชียรมาศไว้จะนำโชค
ลาภมาให้ประสบความสำเร็จและความก้าวหน้าในกิจการงาน แมววิเชียรมาศเป็นแมวพันธุ์แรกที่คนต่างชาติรู้จัก และเป็นแมวพันธุ์ไทยที่แพร่หลายไปสู่ต่างประเทศ ชาวต่างประเทศได้ทำการตั้งชื่อเรียกให้แมวไทยวิเชียรมาศว่า ไซแอมมีส แคท
(SIAMESE CAT) จนกระทั่งได้จัดตั้งเป็นสโมสรแมวไทยที่มีชื่อว่า The Siamese Cat Club เมื่อปีพ.ศ. 2443 และต่อมาอีก 27 ปีในปีพ.ศ. 2471 ได้มีการจัดตั้งสมาคมแมวไทยแห่งจักรวรรดิอังกฤษ (The Siamese Cat Society of the British Empire) ขึ้นจึงนับได้ว่าแมวพันธุ์วิเชียรมาศเป็นแมวที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศไทย

ลักษณะของแมววิเชียรมาศ
แมววิเชียรมาศ มีบางคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็น แมวเก้าแต้ม สาเหตุที่เรียกว่า แมวเก้าแต้ม ก็เพราะว่า ลักษณะของแมวจะมีสีชาหรือสีอ่อนๆ หรือสีน้ำตาลอ่อนและที่อวัยวะ 8 แห่ง หรือ 9 แห่ง จะมีสีเข้มเป็นสีน้ำตาลแก่หรือสีน้ำตาลไหม้ ได้แก่ ที่หู 2 บริเวณขา 4 ที่หาง 1 และที่ใบหน้า 1 ในตำรามี 8 แห่ง แต่ในปัจจุบันนี้มีเพิ่มอีก 1 แห่ง ตรงอวัยวะเพศไม่ว่าเพศผู้ หรือเพศเมีย เป็น 9 แห่ง คนทั่วไปเลยจะเรียกว่า “แมวเก้าแต้ม”
ตา
ตาของแมววิเชียรมาศจะมีลักษณะเป็นสีฟ้าสดใสเป็นประกาย สีตายิ่งเข้มจะยิ่งดี ดวงตาเรียวชี้ไปทางปลายจมูก มุมตาด้านล่างต่ำกว่ามุมตาด้านบน สีของตาดำจะเป็น สีนิลคราม ในส่วนลึกของตาเมื่อสะท้อนออกมาจะมีสีน้ำเงินเข้ม ตาของแมววิเชียรมาศจะไม่เปลี่ยนไปตามวัย
หัวและหู
หัวของแมวจะมีลักษณะเป็นรูปลิ่มหรือสามเหลี่ยม ส่วนกว้างของลิ่มเป็นที่ตั้งของหูทั้ง 2 ข้าง ซึ่งจะอยู่เหนือ มุมขากรรไกร ส่วนที่แคบคือจมูก มีลักษณะเป็นรูปลิ่มปลายตัด ส่วนความยาวของหัวควรเท่ากับ 1 1/3 ของความกว้างของส่วนกว้างที่สุดของลิ่ม คือ ส่วนที่ตั้งของหูลักษณะของกะโหลกจะมีลักษณะแบน ส่วนหลังของกะโหลกตั้งอยู่บริเวณหลังหู ส่วนบริเวณกระดูกใต้ตาจะ ต้องไม่แคบ คางจะอยู่ในแนวเดียวกับขอบจมูกมีลักษณะเป็นแนวลากจากกึ่งกลางหน้าผากไปยังจมูกควรจะเป็นเส้นตรง ส่วนหูจะมีลักษณะใหญ่เปิดกว้างที่ฐาน มีขนอยู่ภายในหูเพียงเล็กน้อยจะเน้นส่วนของลิ่ม แต่จะไม่แผ่แบบหูลา ส่วนฟันล่างและฟันบนจะทำการขบกันเกือบเป็นเส้นตรง จะไม่มีลักษณะของริมฝีปากยื่นล้ำคาง

ลำตัวและส่วนหาง
รูปร่างของแมววิเชียรมาศ จะมีลักษณะขนาดปานกลาง สัดส่วนของแมวนั้นจะสะโอดสะอง อ้อนแอ้น ลำตัวยาว คอยาวระหง ขนยาวบางได้ส่วน บริเวณขาหลังยาวกว่าขาหน้าเล็กน้อยทำให้เวลาเดินส่วนหลังจะลาดเอียงขึ้นเล็กน้อย ส่วนเวลาเคลื่อนไหวจะเห็นกล้ามเนื้อเป็นมัดๆลักษณะรูปเท้าจะเล็กและมีฝ่าเท้าที่อวบเมื่อมองจากด้านบน ทุกส่วนของร่างกายจะต้องไม่กว้างกว่าซี่โครงและซี่โครงจะต้องไม่บานจนกว้างถึงไหล่ หางมีลักษณะยาวเรียว ความยาวของหางจะเท่ากับระยะที่วัดจากโคนหางไปยังจุดที่คอต่อกับไหล่ปลายหางจะต้องชี้
ขน
ขน สั้นเรียบเป็นมัน ละเอียดแน่นและนุ่มแต่ไม่ฟู ขนจะแนบกับลำตัวและไม่มีการเปลี่ยนไปตามวัย ลูกแมวที่เพิ่งคลอด ขนจะมีลักษณะเป็นสีขาว พอได้สัก 1 สัปดาห์ ขอบบริเวณหูจะเริ่มเป็นสีดำ พอเวลาผ่านไปบริเวณขากับหางจะมีสีเข้มขึ้น ลักษณะตัวสีขาวจะมีการเริ่มเปลี่ยนเป็นสินวล พออายุได้ 5 เดือนถึง 1 ปีจะอยู่ในวัยที่มีขนที่สวยงาม
สีลำตัว
สีของลำตัวจะมีสีน้ำตาลอ่อนแกมเหลืองจางๆ ไม่ใช่สีครีมหรือสีงาช้าง ชาวต่างประเทศจะเรียกสีเหมือนลูกกวางอ่อน ขณะที่เป็นลูกแมวจะมีสีที่ลำตัวอ่อนกว่าและมีสีเข้มขึ้นเมื่อ มีอายุมากขึ้น
แต้ม
แต้ม ของแมวจะมีสีน้ำตาลไหม้หรือสีครั่งบนตัว 9 แห่ง คือ บริเวณ หู, หน้า, ขา, หางและอวัยวะเพศ แต้มที่หน้าจะเหมือนใส่หน้ากากจะต้องเชื่อมระหว่างหูทั้ง 2 ข้าง ยกเว้นใน ลูกแมวจะมีแต้มที่หน้าเท่านั้น บริเวณหน้า, หู,บนหัวด้านล่างของแต้มต้องเป็นสีเดียวกับลำตัวแต้มที่หางจะต้องเป็นสีเข้มตลอด จะไม่มีรอย จุดสีขาวหรือเป็นวงสีจางและต้องไม่มีลายทาง ที่ต้นขาหรือที่เอว
ลักษณะด้อย
จุดสีเข้มบริเวณที่ท้อง ยกเว้นแมวที่เพิ่งคลอดเลี้ยงลูกมา หางด้วนหรือหางขอดหักมากตาบอด หรืออวัยวะไม่ครบบริบูรณ์
นิสัย
ฉลาด ปราดเปรียว ร่าเริง ซุกชน รักบ้านและรักเจ้าของ ช่างประจบเป็นตัวของตัวเอง ชาวต่างประเทศได้ทำการคัดเลือกและทำการผสมแมวพันธุ์วิเชียรมาศกับแมวไทยสายพันธุ์อื่นๆ เช่น แต้มสีน้ำตาล, แต้มสีกลีบดอกบัว, แต้มสีแดง และได้ทำการจัดแมวเหล่านี้ไว้ในกลุ่มแมวไทย


2.แมวสีสวาดหรือแมวโคราช
แมวสีสวาดหรือแมวโคราช ในตำราแมวไทยจะมีถิ่นกำเนิดที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมาในสมัยโบราณจะเรียกแมวพันธุ์นี้ว่า แมว”มาเลศ” หรือ “แมวดอกเลา” เพราะว่าแมว พันธุ์นี้มีขนสีเหมือนดอกเลาซึ่งเป็นดอกไม้ป่าชนิดหนึ่ง แมวสีสวาดเป็นแมวพันธุ์ดั้งเดิมของไทย ซึ่งชาวโคราชให้ความสำคัญมาก โดยเฉพาะในงานพิธีสำคัญๆ เช่น พิธีแห่นางแมวจะทำการเลือกแมวสีสวาดเพราะว่าสีของแมวสีสวาดเหมือนกับท้องฟ้ากำลังมืดครึ้ม ชาวโคราชจึงถือว่าแมวสีสวาดเป็นแมวให้โชคลาภจะนำความสุขสวัสดิ์มงคลมาสู่ผู้เป็นเจ้าของ จึงทำให้นิยมนำไปมอบเป็นของขวัญแก่ผู้ที่เคารพ
นับถือ เพราะเชื่อกันว่าสีขนจะสีคล้ายกับสีเมฆจะทำให้เกิดฝนสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ไร่นาและพืชผลผลิตของชาวโคราช ส่วนตาเป็น สีทองเขียว เปรียบเสมือนสีเขียวของข้าวในนา ซึ่งจะทำการออกรวงเป็นสีทอง ส่วนหัวของแมวสีสีสวาดจะมีลักษณะเป็นรูปหัวใจ แสดงถึงความรัก ความสุข และความงาม
แมวสีสวาดหรือแมวโคราชนี้ได้รับการเผยแพร่ไปสู่ต่างประเทศโดย นางยีน จอห์นสัน(Mrs. Jean Johnson) ได้ติดตามสามีมาทำงานที่ประเทศไทย และได้นำแมวสีสวาดหรือแมวโคราชกลับไปเลี้ยงที่รัฐโอเรกอนสหรัฐอเมริกา เมื่อปีพ.ศ. 2502 ต่อมาได้แพร่หลายไปหลายประเทศ จนถึง อังกฤษ, แคนาดา,ฝรั่งเศส และแอฟริกาใต้ ได้มีการจัดตั้งสมาคมผู้นิยมแมวสีสวาดหรือแมวโคราชในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี พ.ศ. 2508 แมวสีสวาดเคยชนะการประกวดชนะเลิศระดับโลกมาแล้วในปี พ.ศ.2503 ที่สหรัฐอเมริกา เป็นแมวตัวเมียที่มีชื่อว่า สุนัน และตั้งแต่นั้นมาทำให้ชาวบ้านต่างประเทศนิยมเลี้ยงกันมาก จึงนับได้ว่าแมวไทยได้ทำชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย
ลักษณะของแมวสีสวาดหรือแมวโคราช
ตา
จะมีลักษณะดวงตาใหญ่ เบิกกว้างเป็นประกายแวววาวเด่นชัด สีตาจะเปลี่ยนไปตามอายุ เมื่อเป็นลูกแมวจะมีสีฟ้าสดใส โตเต็มที่ตาจะมีอยู่ 2 สี คือ สีเขียวมรกต หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร และสีทองหรือทองคำ หมายถึง รวงข้าวตอนแก่ สีตาจะไม่แน่นอนจนกว่าจะมีอายุ 2 ปี ลูกนัยน์ตาของแมวเวลาลืมเต็มที่จะมีลักษณะกลม แต่เวลานอนหลับหรือทำตาหรี่ๆ นัยน์ตาจะเฉียงขึ้นเล็กน้อย
หัวและหู
หัวเมื่อดูจากด้านหน้าจะมีลักษณะเป็นรูปหัวใจ บริเวณหน้าผากใหญ่และแบน แมวตัวผู้หน้าผากจะมีรอยหยัก ทำให้เห็นรูปหัวใจเด่นชัด ส่วนจมูกจะสั้น คางและกรามแข็งแรง รูปหน้า ด้านข้างจะมีมุมหักน้อยๆ ระหว่างหน้าผากและจมูก หูทั้ง 2 ข้างจะมีลักษณะใหญ่ตั้งสูงเด่นบริเวณปลายหูจะมน โคนหูจะใหญ่
ลำตัวและหาง
แมวสีสวาดมีรูปร่างขนาดปานกลาง ลำตัวแข็งแรง หลังโค้ง ขาได้สัดส่วนกับลำตัว เท้าเป็นรูปไข่ หางยาวปานกลาง โคนหางใหญ่แล้ว ค่อยๆ เรียวกลมจนสุดปลายหาง
ขน
ขนจะสั้นถึงยาวปานกลาง เป็นเส้นเดี่ยวๆแนบกับลำตัว
สีลำตัว
สีของลำตัวจะเป็นสีสวาดทั้งตัว ปลายเส้นขนเป็นสีเงิน (Silver) ขนมีลักษณะเป็นเงามันเลื่อม ถ้าถูกแดดจะเข้มออกเป็นประกายม่วงและจะมีลักษณะเช่นนี้ตั้งแต่เกิดจนถึงกระทั่งตาย ถ้าหากว่ามีสีอื่นปะปนจะถือว่าไม่เป็นพันธุ์แท้บริเวณที่ขนสั้นจะเห็นสีเงิน ได้เด่นชัด ส่วนอุ้งเท้าจะมีสีเงินปนม่วงอ่อนอมชมพูหนังที่จมูกและริมฝีปากจะเป็นสีเงินหรือสีม่วงอ่อน
นิสัย
อ่อนโยน ขี้เล่น มีความรู้สึกไวในการตอบสนองต่อการหยอกเย้าของผู้เป็นเจ้าของ

3.แมวขาวมณีหรือขาวปลอด
สมัยรัตนโกสินทร์ ได้มีหลักฐานยืนยันว่า แมวขาวมณีนั้นเป็นแมวไทย ตามหลักฐานที่พบจากภาพตามโบสถ์ของวัดต่างๆ เช่น วัดทองนพคุณ เป็นต้น แมวขาวมณีเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า
“แมวขาวปลอด” มีลักษณะ ขาวทั้งตัว ตั้งแต่หัวถึงเท้า ลักษณะพิเศษเด่นชัดคือ สีของดวงตาจะมีอยู่ 3 แบบ บางตัวมีสีฟ้าทั้ง 2 ข้าง บางตัวจะมีสีเหลืองทั้ง 2 ข้าง บางตัวจะมีสีเหลืองข้างหนึ่งและ สีฟ้าข้างหนึ่ง เรียกว่า ขาวมณีตา 2 สี ซึ่งเป็นลักษณะเด่น และเป็นที่นิยมต้องการ เพราะหาได้ยากกว่าแมวตาสีเดียว ถึงแม้ว่าแมวพันธุ์นี้จะไม่ได้รวมอยู่ในตำราแมวไทยโบราณ แต่ในวงการผู้เลี้ยงแมวในประเทศไทยส่วนใหญ่ได้ยอมรับว่าแมวขาวมณีเป็นแมวไทยพันธุ์แท้อีกพันธุ์เช่นกัน
ลักษณะของแมวขาวมณีหรือแมวขาวปลอด
ตา
มี 2 สี คือ สีฟ้า หรือสีอำพัน หรือข้างหนึ่งสีฟ้า
อีกข้างสีเหลืองอำพัน
หัวและหู
ลักษณะของหัวจะคล้ายรูปหัวใจ หน้าผากใหญ่แบน จมูกสั้น หูใหญ่ตั้งสูงเด่น
ลำตัวและทาง
มีขนาดปานกลาง ขายาวเรียวได้สัดส่วนกับลำตัว
หางยาวปลายแหลมชี้ตรง
ขน
จะมีลักษณะสั้น แน่น อ่อนนุ่ม
สีลำตัว
เป็นสีขาวตลอดลำตัว
นิสัย
เชื่อง รักความสะอาด เหมาะที่จะเลี้ยงเป็นเพื่อน

4.แมวศุภลักษณ์หรือแมวทองแดง
แมวศุภลักษณ์หรือแมวทองแดง ชาวต่างประเทศเรียกแมวพันธุ์นี้ว่า “แมวพม่า” เนื่องจากในปี พ.ศ. 2473 ดร.ใจเซฟ ซี ทอมป์สัน ชาวอเมริกา ได้นำลูกแมวสีน้ำตาลอ่อนตัวหนึ่งจากประเทศพม่ากลับไปที่ชานฟรานซิสโกและได้นำไปจดทะเบียนที่ประเทศอังกฤษและได้ตั้งชื่อว่าแมวพม่า จนกลายเป็นแมวที่มีผู้นิยมเลี้ยงโดยสันนิษฐานว่า แมวศุภลักษณ์หรือแมวทองแดงที่แท้จริงแล้วเป็นแมวไทย เนื่องจากมีโครงสร้างและลักษณะนิสัยเหมือนแมวไทยมากและแต่เดิมพม่าไม่ได้มีการเลี้ยงแมวทองแดงและไม่มีตำราเกี่ยวกับแมวทองแดง ส่วนของประเทศไทยได้มีการทำบันทึกไว้ในสมุดข่อยโบราณกล่าวไว้ว่า เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 2 ชาวไทยได้ถูกกวาดต้อนไปในประเทศพม่าและได้นำแมวทองแดงไปเลี้ยงด้วย ทำให้แมวทองแดงได้แพร่หลายและนิยมเลี้ยงในประเทศพม่า ทำให้ได้มีการพบแมวทองแดงที่พม่าจึงเข้าใจว่าเป็นแมวพม่า
แมวศุภลักษณ์หรือแมวทองแดงในปัจจุบันเป็นแมวที่หาได้ยากมากในการประกวดแต่ละครั้งมีจำนวนน้อยมากและเป็นที่นิยมของชาวต่างประเทศ ตามตำราสมัยโบราณมีความเชื่อกันว่า “ถ้าใครเลี้ยงไว้จะได้ยศถายิ่งพรรณาเป็นอำมาตย์มนตรี”ในปัจจุบันนี้แมวศุภลักษณ์หรือแมวทองแดงนั้นหาได้ยากถ้าหากใครพบเห็นหรือรับเลี้ยงไว้จะดีเพระาเป็นแมวที่มีคุณค่า
ลักษณะของแมวศุภลักษณ์หรือแมวทองแดง
ตา
สีของตาจะมีสีเหลืองอมฟ้าหรือสีเหลืองอำพัน
หัว
มีลักษณะกลม
ลำตัวและหาง
รูปร่างจะมีขนาดกลาง ขายาวเรียว ฝ่าเท้าอบนุ่ม หางตรง


ขน
ลำตัวจะมีขนสีน้ำตาลเข้มคล้ายทองแดงส่วนหูและใบหน้าจะมีเข้มกว่าส่วนอื่นๆหนวดมีสีลวดทองแดง
นิสัย
ลักษณะนะสัยจะกระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลาสนใจสิ่งรอบตัว รักอิสระ ชอบล่าเหยื่อ ขี้เล่นและซุกซน
ลักษณะด้อย
มีลักษณะสีขนอ่อน หางหงิกงอ ปลายหางคด สีขาวอยู่บริเวณหน้าอกหรือช่องท้อง มีลายทางตามลำตัว โดยเฉพาะตามใบหน้า ขาและหาง
5.แมวโกญจา
แมวโกญจา หรืออีกชื่อหนึ่งว่าแมวดำปลอด บางคนเรียกว่า ดำมงคล จะมีลักษณะสีดำทั้งตัวมีดวงตาสีเหลืองอำพัน เหมือนสีดอกบวบแรกแย้มหรือสีเหลืองนั่นเอง ปัจจุบันนี้คนส่วนใหญ่ได้เข้าใจผิดเรียกแมวโกญจาว่า แมวนิลรัตน์ เพราะว่ามีสีดำคล้ายกับแมวนิลรัตน์ ลักษณะของแมวโกญจาจะต้องมีสีดำหมดทังตัว ซึ่งจะถือว่าเป็นแมวที่หาได้ง่ายมากที่สุดกว่าทุกสายพันธุ์ ราคาไม่แพงแต่ไม่เป็นที่นิยม แมวพันธุ์นี้คนส่วนใหญ่จะเรียกแมวดำนี้ว่าแมวผี ตามตำราโบราณเชื่อกันว่า “แมว นี้ถ้าเลี้ยงดีจะมีคุณหนักหนา จงเร่งหามาอย่าแคลงสงสัย” ลักษณะท่าทาง จะสง่าเหมือนสิงโตเป็นที่น่าเกรงขาม แมวโกญจาดูตามความหมายแล้วจะแปลว่า นกกระเรียนและอีกความหมายหนึ่งแปลว่า เสียงดังกึกก้องกังวาล


ลักษณะแมวโกญจา
ตา
สีของตาจะเป็นสีเหลืองอำพัน
ขน
แมวโกญจาจะมีขนสั้นบางและเป็นระเบียบเรียบร้อย สีขนดำทั้งตัว
ที่มาจากหนังสือคู่มือสำหรับการเลี้ยงแมวไทย คุณนฤมล มานิพพาน